Last updated: 17 มิ.ย. 2565 | 7966 จำนวนผู้เข้าชม |
การดูแลรักษาตู้เย็น ที่ช่วยลดงานหนัก ยืดอายุการใช้งาน
ตู้เย็นเป็นอีกหนึ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นสำคัญของทุกบ้าน ที่ช่วยให้อาหารและวัตถุดิบยังคงคุณภาพความสดใหม่ จึงถือเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าประจำบ้านอีกชิ้นที่ทำงานหนัก เเถมยังมีการเปิดใช้งานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นเพื่อให้ตู้เย็นยังคงประสิทธิภาพการใช้งานที่ทนทานยาวนาน เราต้องมีวิธีดูเเลรักษาอย่างระมัดระวังอย่างไรบ้างมาดูพร้อมกัน รักษา ตู้เย็น
ซึ่งถ้าหากยังไม่อยากรีบซื้อตู้เย็นใหม่ล่ะก็ The Cool เล็งเห็นว่าเราควรดูแล รักษา ตู้เย็น โดยใส่ใจในหลาย ๆ จุด เพื่อให้ตู้เย็นของเรามีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้นดังนี้
1. ไม่ใส่ของในตู้มากเกินไป
อะไรที่ต้องทำงานหนักจนเกินพอดี มักทำให้เกิดผลเสียทั้งนั้น ตู้เย็นก็เช่นเดียวกัน แม้จะได้รับการออกแบบมาให้เก็บรักษาอาหารให้มีอายุยาวนานขึ้น แต่การยัดทุกอย่างเข้าตู้เย็นจนแน่นไปหมดจะทำให้ตู้เย็นทำงานหนักเกินไป เพราะต้องคอยทำความเย็นให้กระจายอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอเพื่อรักษาคุณภาพของอาหารไว้ เเต่นอกจากภายในตู้เเล้ว ยังต้องระวังน้ำหนักของของที่เเช่ตรงบานประตูตู้เย็นด้วยเหมือนกัน เพราะส่วนนี้จะมีผลกับระยะการใช้งานทั้งส่วนของประตู และขอบยาง ซึ่งอาจเสื่อมสภาพเเละต้องเปลี่ยนเร็วกว่าที่ควร
2. เหลือพื้นที่ด้านนอก
แม้ต้องการจะจัดบ้านแบบให้เป๊ะขนาดไหน ก็ไม่สามารถวางตู้เย็นให้ชิดผนัง หรือมุมแบบเต็มพื้นที่เหมือนเฟอร์นิเจอร์อื่น ๆ แต่ควรเว้นพื้นที่รอบ ๆ โดยเฉพาะด้านหลัง ควรมีพื้นที่ว่างอย่างน้อย 15 เซนติเมตร เพื่อให้ตู้เย็นได้มีพื้นที่ระบายความร้อนออกมาได้ดีขึ้น ทำให้ระบบการทำงานเป็นปกติ ไม่ต้องทำงานหนักเกินไป
3. หลีกเลี่ยงวางตู้เย็นใกล้ความร้อน
การเลือกพื้นที่สำหรับวางตู้เย็นนั้นก็มีผลเหมือนกันค่ะ โดยบริเวณใกล้ ๆ ตู้เย็นนั้นไม่ควรมีเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิด ๆ อื่น ที่ให้ความร้อนอย่าง เตาอบ เตาแก๊ส หรือหม้อไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ต้องใช้เป็นประจำ เพราะตู้เย็นต้องรับมือกับความร้อนที่อยู่ใกล้เคียงซึ่งมีโอกาสเข้ามาในตู้ได้มากขึ้น ตู้เย็นจึงต้องทำงานหนักจากการผลิตความเย็นเพิ่มขึ้น ดังนั้นอย่าลืมจัดสรรพื้นที่สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชนิดให้เหมาะสมด้วยนะคะ
4. ไม่ควรงัดน้ำแข็งที่เกาะอยู่ภายในตู้
อีกปัญหาที่มักเกิดขึ้นหากปล่อยไว้นาน ๆ ก็คือปัญหาเรื่องของน้ำแข็งที่เกาะในช่องแช่แข็งและสะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะทำให้ปิดฝาช่องแช่เเข็งได้ไม่สนิทสำหรับในตู้เย็นบางรุ่น แต่การใช้ทางลัดด้วยวิธีงัดแงะให้น้ำแข็งหลุดล่อนออกมานั้น เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ และไม่ใช่วิธีที่ควรทำ ถ้าไม่อยากให้เกิดเป็นปัญหา ควรเริ่มหันมาใส่ใจโดยหมั่นกดละลายน้ำแข็งอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่เหมาะสม จากการสังเกตปริมาณน้ำแข็งที่เกาะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ภาพจาก http://flash-freeze.net
5. รอให้อาหารเย็นลงก่อนนำเข้าตู้
หลังอุ่นแกงเสร็จใหม่ ๆ หรือเพิ่งซื้อเมนูโปรดมาตั้งใจเก็บไว้ทานเป็นมื้อถัดไป อย่าเพิ่งรีบร้อนจับใส่ตู้เย็นนะคะ เพราะนี่เป็นอีกปัจจัยที่หลาย ๆ คนคิดว่าคงไม่เป็นไร แต่ทำให้ตู้เย็นต้องทำงานหนักเพิ่มอีกเป็นเท่าตัว เพราะกว่าตู้เย็นจะปรับอุณหภูมิของอาหารที่ร้อนลงมาได้นั้น ต้องใช้ความเย็นมากกว่าปกติ ทางที่ดีควรรอให้อาหารเหล่านั้น เย็นลงจนอยู่ในอุณหภูมิปกติเสียก่อน จึงค่อยนำเข้าตู้เย็นดีกว่าค่ะ
ภาพจาก https://www.prachachat.net/
6. ไม่ควรเปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หรือค้างไว้
หน้าที่หลักของตู้เย็นก็คือ การทำให้อาหารต่าง ๆ สดใหม่อยู่ได้นาน โดยรักษาคุณภาพด้วยการใช้ความเย็น แต่การเปิด-ปิดตู้เย็นบ่อย ๆ หรือเปิดไว้นาน ๆ จะยิ่งทำให้ความร้อนจากภายนอกเข้ามาในตู้มากขึ้น ระบบภายในจึงต้องเพิ่มการทำงาน เพื่อให้ความเย็นกลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม คราวนี้คอมเพรสเซอร์ก็ต้องทำงานหนักขึ้นจะทำให้อายุการใช้งานลดลงเร็วขึ้นนั่นเอง
ภาพจาก https://www.sanook.com/
7. การติดตั้งเต้ารับให้เหมาะสม
ตู้เย็นเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกประเภทที่ใช้กำลังไฟฟ้าเยอะ จึงไม่ควรใช้เต้าเสียบรวมกับเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ ที่ต้องใช้งานหนักเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่าง ตู้อบ หรือหม้อหุงข้าว แต่ควรติดตั้งเต้าเสียบที่แข็งเเรงแยกต่างหากโดยเฉพาะ เพื่อให้รองรับกับการใช้งานได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยให้ตู้เย็นทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ และเพิ่มความปลอดภัยขึ้นด้วย
8. คอยตรวจเช็คขอบยางประตูตู้เย็น
อีกส่วนสำคัญที่หลาย ๆ บ้านอาจละเลยไปก็คือ ขอบยางที่ประตูตู้เย็น นอกจากการทำความสะอาดปกติแล้ว ยังต้องคอยตรวจเช็คสภาพเสมอ โดยอาจใช้วิธีง่าย ๆ อย่าง การเหน็บกระดาษแผ่นเล็ก ๆ ไว้แล้วปิดประตูตู้เย็น เพื่อดูว่าขอบยางยังแข็งแรงพอที่จะสามารถหนีบแผ่นกระดาษนั้นไว้ได้หรือไม่ เพราะถ้าเกิดประตูตู้เย็นปิดได้ไม่แน่นก็จะมีความชื้นเข้าไปได้มากขึ้น ทำให้กลายเป็นน้ำแข็งเกาะสะสมตัวมากขึ้น จนลดประสิทธิภาพในการทำความเย็นลง
ภาพจาก https://home.kapook.com/
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.baanlaesuan.com/
29 พ.ค. 2566
21 ส.ค. 2566
17 ส.ค. 2566
15 ส.ค. 2566